เรื่องราวที่เหลือ
เป็นเวลากว่าหกทศวรรษที่เสียงของนักข่าวพอล ฮาร์วีย์ เป็นเสียงที่คุ้นเคยในรายการวิทยุของอเมริกา เขาอ่านข่าวหกวันต่อสัปดาห์ด้วยชั้นเชิงที่แพรวพราว “คุณรู้ว่าข่าวคืออะไร ในอีกอึดใจเดียวคุณจะได้ฟังเรื่องราวที่เหลือ” หลังจากโฆษณาสั้นๆ เขาจะเล่าเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนรู้เกี่ยวกับคนที่มีชื่อเสียง แต่จะอุบชื่อคนหรือข้อมูลสำคัญๆเอาไว้ในตอนท้าย ผู้ฟังชื่นชอบเวลาที่เขาเว้นจังหวะการพูดแล้วต่อด้วยประโยคเด็ดว่า “แล้วตอนนี้คุณก็ได้รู้...เรื่องราวที่เหลือ”
นิมิตของอัครสาวกยอห์นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและอนาคตถูกเปิดเผยพร้อมกับความหวังที่คล้ายกัน แต่เรื่องราวของท่านเริ่มต้นด้วยความเศร้าท่านไม่อาจหยุดร่ำไห้เมื่อรู้ว่า ไม่มีผู้ใดทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกที่บอกเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นในภายหน้าได้ (วว.4:1; 5:1-4) แล้วท่านก็ได้ยินเสียงที่บอกว่าความหวังมีอยู่ใน “สิงห์แห่งเผ่ายูดาห์” (ข้อ 5) แต่เมื่อยอห์นมองไป แทนที่จะเห็นสิงห์ผู้มีชัย ท่านมองเห็นลูกแกะที่ประหนึ่งทรงถูกปลงพระชนม์ (ข้อ 5-6) ฉับพลันนั้นมีภาพที่ไม่คาดคิดปรากฏขึ้นเป็นการเฉลิมฉลองรอบพระที่นั่งของพระเจ้า และมีบทเพลงสามท่อนที่ถูกขับร้องโดยผู้อาวุโส 24 คนร่วมร้องกับทูตสววรค์จำนวนมากเกินกว่าจะนับได้ และจากนั้นก็ร่วมร้องโดยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดทั้งในสวรรค์และแผ่นดินโลก (ข้อ 8-14)
ใครจะคิดว่าองค์พระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงถูกตรึงจะเป็นความหวังของบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งปวง เป็นพระสง่าราศีของพระเจ้าของเรา และเป็นเรื่องราวที่เหลือของเรา
อ่านกลับหลัง
การอ่านบทสุดท้ายของนวนิยายเร้นลับก่อนอาจเป็นความคิดที่แย่สำหรับผู้ที่ชอบความระทึกใจของเรื่องราว แต่บางคนจะสนุกกับการอ่านมากขึ้นถ้าได้รู้ตอนจบของเรื่องก่อน
ในหนังสือ อ่านกลับหลัง ริชาร์ด เฮส์ผู้เขียนแสดงให้เห็นความสำคัญของการฝึกเช่นนี้ว่าเพื่อทำให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ ศาสตราจารย์เฮส์ให้เหตุผลในการอ่านพระคัมภีร์ไปข้างหน้าและกลับหลังแก่เรา โดยอธิบายถึงการเปิดเผยของพระคำและเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ที่พยากรณ์ล่วงหน้า เชื่อมโยงกันและสะท้อนให้ความกระจ่างแก่กันและกัน
เฮส์เตือนผู้อ่านว่าภายหลังการฟื้นพระชนม์ของพระเยซูเท่านั้นที่เหล่าสาวกจึงได้เข้าใจคำตรัสของพระองค์เรื่องการสร้างพระวิหารที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ภายในสามวัน อัครสาวกยอห์นบอกเราว่า “พระวิหารที่พระองค์ตรัสถึงนั้นคือพระกายของพระองค์” (ยน.2:21) ในตอนนั้นเองที่พวกเขาได้เข้าใจความหมายของการฉลองปัสกาที่พวกเขาไม่เคยเข้าใจมาก่อน (ดู มธ.26:17-29) ด้วยการย้อนรำลึกเหตุการณ์ พวกเขาจึงเข้าใจการที่พระเยซูประทานความหมายที่สมบูรณ์ถึงความรู้สึกของกษัตริย์ในยุคโบราณที่มีต่อพระวิหารของพระเจ้า (สดด.69:9; ยน.2:16-17) ด้วยการอ่านพระคัมภีร์อีกครั้งภายใต้พระเยซูผู้ทรงเป็นพระวิหารที่แท้จริงของพระเจ้าเท่านั้น ที่เหล่าสาวกจึงได้เข้าใจชัดเจนถึงความเชื่อมโยงในศาสนพิธีของชนอิสราเอลกับพระเมสสิยาห์
และในเวลานี้ มีเพียงการอ่านทบทวนพระคัมภีร์ไปข้างหน้าและกลับหลังเท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นทุกสิ่งที่เราต้องการและมุ่งหวังในพระเยซู
เกินกว่าถ้อยคำ
โทมัส อไควนัส (ค.ศ.1225-1274) เป็นผู้ปกป้องความเชื่อที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของศาสนจักร ทว่าเพียงสามเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต บางอย่างทำให้เขาละทิ้งงานเขียน สรุปแห่งธรรม (Summa Theologica) ที่ยังเขียนไม่เสร็จซึ่งเป็นมรดกยิ่งใหญ่แห่งผลงานในชีวิตของเขา ขณะใคร่ครวญถึงพระวรกายที่แตกหักและพระโลหิตที่หลั่งออกขององค์พระผู้ช่วยให้รอด อไควนัสยืนยันว่าเห็นนิมิตที่ทำให้กล่าวเป็นถ้อยคำไม่ได้ “ข้าพเจ้าไม่อาจเขียนได้อีก ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งที่ทำให้งานเขียนของข้าพเจ้าเป็นเสมือนฟางหญ้า”
ก่อนหน้าอไควนัส เปาโลก็เห็นนิมิตเช่นกัน ใน 2 โครินธ์ท่านบรรยายประสบการณ์ว่า “ข้าพเจ้า...[...จะไปทั้งกายหรือไม่มีกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงทราบ]...ถูกรับขึ้นไปยังเมืองบรมสุขเกษม และได้ยินวาจาซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้” (12:3-4)
เปาโลและอไควนัสทิ้งให้เราใคร่ครวญถึงมหาสมุทรแห่งความดีงามที่ทั้งคำพูดและเหตุผลไม่อาจแสดงออกได้ นัยยะของสิ่งที่อไควนัสเห็น ทำให้เขาไม่เห็นหนทางว่าจะเขียนงานชิ้นนี้ให้สำเร็จในลักษณะที่จะให้ความยุติธรรมต่อพระเจ้าผู้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาถูกตรึงบนกางเขนเพื่อเราได้อย่างไร แม้เปาโลจะทำตรงกันข้ามโดยยังคงเขียนต่อไป แต่ท่านทำเช่นนั้นโดยตระหนักถึงสิ่งที่ท่านไม่อาจบรรยายหรือทำให้สำเร็จด้วยกำลังของตนเอง
ท่ามกลางปัญหาทั้งสิ้นที่เปาโลประสบในการรับใช้พระคริสต์ (2 คร.11:16-33; 12:8-9) ท่านมองย้อนกลับไปในความอ่อนแอของท่าน และเห็นถึงพระคุณและความดีงามที่เกินคำบรรยาย และท่านรู้สึกอัศจรรย์ใจ
เมื่อคนทั้งโลกร้องเพลง
เพลงประกอบโฆษณาจากทศวรรษที่ 1970 ทำให้คนรุ่นหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจ เริ่มจากเพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาโคคาโคล่าโดยใช้หัวข้อว่า “ของแท้” ต่อมาวงดนตรีสัญชาติอังกฤษชื่อ เดอะ นิว ซีคเก้อร์ ได้ร้องเพลงนี้ในฉบับเต็มและไต่อันดับความนิยมไปอยู่ต้นๆของชาร์ตเพลงทั่วโลก แต่คนมากมายจะไม่มีวันลืมเพลงฉบับดั้งเดิมทางโทรทัศน์ที่ขับร้องโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวบนยอดเขานอกกรุงโรม น่าตลกที่ภาพของผึ้งและต้นไม้ที่ออกผลทำให้เราคล้อยตามความต้องการของผู้เขียนเพลง ที่อยากสอนให้คนทั้งโลกร้องเพลงด้วยความรักและสามัคคี
อัครสาวกยอห์นได้อธิบายถึงบางสิ่งที่คล้ายกับความฝันในอุดมคตินั้น หากแต่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก ท่านเห็นในนิมิตว่าบทเพลงถูกร้องโดย “สิ่งมีชีวิตทั้งหมด ทั้งในสวรรค์ ในแผ่นดินโลก ใต้แผ่นดิน ในมหาสมุทร บรรดาที่อยู่ในที่เหล่านั้น” (วว. 5:13) ไม่มีอะไรน่าตลกเกี่ยวกับบทเพลงนี้ ไม่มีอะไรเป็นจริงไปกว่าพระองค์ผู้ที่บทเพลงนี้ร้องถึงได้ทรงจ่ายราคาสูงจริง ไม่มีอะไรจะน่าหวาดกลัวมากไปกว่าภาพของสงคราม ความตาย และผลที่เกิดตามมา ซึ่งการเสียสละด้วยความรักของพระองค์จะต้องเอาชนะให้ได้
แต่นี่แหละคือสิ่งที่พระเมษโปดกของพระเจ้าจะต้องแลกเพื่อแบกรับบาปแทนเราและเอาชนะความตาย มีชัยเหนือความกลัวตายของเรา และสอนทุกสรรพสิ่งในสวรรค์และบนโลกให้ร้องบทเพลงอย่างพร้อมเพรียงกัน
เพื่อนของเพื่อนพระเจ้า
เมื่อคนสองคนพบกันครั้งแรก ความเป็นกันเองจะเกิดขึ้นหากทั้งสองพบว่าพวกเขามีเพื่อนคนเดียวกัน รูปแบบที่อาจเป็นที่น่าจดจำที่สุดคือเมื่อเจ้าของบ้านใจดีต้อนรับแขกด้วยคำพูดประมาณว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก เพื่อนของแซม หรือเพื่อนของซาแมนธา ก็เป็นเพื่อนของฉันด้วย”
พระเยซูตรัสบางอย่างที่คล้ายกันนี้ด้วย พระองค์ได้รับความสนใจจากฝูงชนจากการที่ทรงรักษาคนเจ็บป่วยมากมาย แต่พระองค์ก็ได้ทรงสร้างศัตรูกับผู้นำศาสนา โดยการไม่เห็นด้วยกับวิธีที่พวกเขาทำให้พระวิหารกลายเป็นที่ซื้อขายและใช้อิทธิพลของตนในทางที่ผิด ในท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น พระองค์ทรงเดินหน้าเพื่อเพิ่มพูนความยินดี มูลค่า และความมหัศจรรย์ของการปรากฏตัวของพระองค์ พระองค์ทรงทำให้สาวกสามารถรักษาคนป่วยได้และส่งพวกเขาออกไปประกาศว่าแผ่นดินของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว พระองค์ทรงรับรองกับเหล่าสาวกว่า “ผู้ที่รับท่านทั้งหลายก็รับเรา” (มธ.10:40) และรวมถึงรับพระบิดาผู้ทรงใช้พระองค์มาเช่นกัน
ไม่น่าจะมีสิ่งใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้มากกว่ามิตรภาพอีกแล้ว สำหรับใครที่จะเปิดบ้านของตน หรือแม้แต่ให้น้ำเย็นสักแก้วแก่ผู้ที่เป็นสาวกของพระเยซู พระองค์ทรงรับรองว่าพวกเขาจะได้อยู่ในพระทัยของพระเจ้า แม้เวลานั้นจะผ่านมานานมากแล้ว แต่คำตรัสของพระองค์เตือนเราว่า การแสดงความเมตตาและการต้อนรับขับสู้ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ ก็ยังคงเป็นการให้การต้อนรับและรับการต้อนรับ ในฐานะเพื่อนของเพื่อนพระเจ้า
พระเยซูกับความยุติธรรม
ซีซาร์ ออกัสตัส (63 ปีก่อนค.ศ. - ค.ศ.14) จักรพรรดิองค์แรกของอาณาจักรโรมัน ต้องการเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ปกครองที่เข้มงวดในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ แม้พระองค์จะสร้างอาณาจักรจากแรงงานทาส การยึดอำนาจทางทหาร และการติดสินบน แต่พระองค์ก็ได้ฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมและมอบเทพียูสทิเทียซึ่งในระบบยุติธรรมทุกวันนี้เรียกว่าเทพียุติธรรมให้กับพลเมืองของพระองค์ พระองค์ยังให้มีการสำรวจสำมะโนประชากร ซึ่งนำมารีย์และโยเซฟมาที่เบธเลเฮมเพื่อให้กำเนิดผู้ปกครองที่เฝ้ารอมานาน ผู้ซึ่งความยิ่งใหญ่ของพระองค์จะไปถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก (มคา.5:2-4)
สิ่งที่ออกัสตัสและคนทั้งโลกคาดไม่ถึงก็คือ การที่จอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงมีชีวิตและสิ้นพระชนม์เพื่อสำแดงให้เห็นถึงความยุติธรรมที่แท้จริง หลายศตวรรษก่อนหน้าในสมัยของมีคาห์ ประชากรของพระเจ้ากลับไปเกลือกกลั้วกับการโกหก ความรุนแรง และ “ทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากการชั่วร้าย” (6:10-12) ชนชาติที่พระเจ้าทรงรักมองไม่เห็นพระองค์ พระองค์ปรารถนาที่พวกเขาจะแสดงให้โลกเห็นถึงความหมายของการกระทำสิ่งที่ถูกต้องต่อกัน และเดินอย่างถ่อมใจไปกับพระองค์ (ข้อ 8)
กษัตริย์ผู้รับใช้ทรงเป็นแบบอย่างของความยุติธรรม ซึ่งผู้คนที่เจ็บปวด ถูกลืม และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้นรอคอย คำพยากรณ์ของมีคาห์ที่สำเร็จโดยพระเยซูทำให้มนุษย์กลับมามีสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าและกับมนุษย์ด้วยกัน สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบแค่ภายนอกของซีซาร์ แต่เกิดจากเสรีภาพแห่งพระเมตตา ความดี และจิตวิญญาณของพระเยซู กษัตริย์ผู้รับใช้ของเรา
วีรบุรุษ ผู้กดขี่ และพระเยซู
บีโธเฟ่นรู้สึกโกรธ เขาตั้งใจจะตั้งชื่อผลงานซิมโฟนีหมายเลขสามของเขาว่า “เดอะโบนาปาร์ต” ในยุคแห่งการใช้อำนาจกดขี่ทางศาสนาและการเมือง เขามองนโปเลียนเป็นวีรบุรุษของประชาชนและตัวแทนของอิสรภาพ แต่เมื่อแม่ทัพชาวฝรั่งเศสประกาศตัวเป็นจักรพรรดิ นักแต่งเพลงผู้โด่งดังจึงเปลี่ยนความคิด เขาประณามว่าอดีตวีรบุรุษคนนี้เป็นทรชนและผู้กดขี่ และพยายามลบชื่อโบนา-ปาร์ตออกจนโน้ตเพลงของเขาขาดเป็นรู
ผู้เชื่อพระเยซูในยุคแรกคงต้องรู้สึกผิดหวังเมื่อความหวังของพวกเขาที่จะมีการปฏิรูปทางการเมืองพังทลายลง พระองค์ทรงให้ความหวังถึงชีวิตที่ไร้การกดขี่ขูดรีดภาษีของซีซาร์และการควบคุมของทหาร แต่หลายสิบปีผ่านไปโรมก็ยังคงครองโลกอยู่ ผู้ส่งสารของพระเยซูถูกทิ้งไว้กับความกลัวและความอ่อนแอ สาวกของพระองค์ยังไม่มีความเป็นผู้ใหญ่และทะเลาะกัน (1 คร.1:11-12; 3:1-3)
แต่มีบางสิ่งที่แตกต่าง เปาโลมองเห็นไปไกลกว่าแค่ความไม่เปลี่ยนแปลง จดหมายของท่านทั้งตอนต้น ตอนท้าย และในเนื้อหาเต็มไปด้วยพระนามของพระคริสต์ พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย พระคริสต์ทรงสัญญาว่าจะกลับมาด้วยฤทธิ์อำนาจ พระคริสต์ทรงพิพากษาทุกสิ่งและทุกคน เหนือสิ่งอื่นใดเปาโลต้องการให้ผู้เชื่อในพระเยซูยึดมั่นในความหมายและความสำคัญของการที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน (2:2; 13:1-13)
ความรักที่แสดงออกในการเสียสละของพระเยซูทำให้พระองค์เป็นผู้นำที่แตกต่าง ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้ กางเขนของพระองค์เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง พระนามของพระเยซูจะเป็นที่รู้จักและยกย่องเหนือนามทั้งปวงตลอดไป
ซ้ำเติม
ในยุคทองของวิทยุ เฟร็ด อัลเลน (1894-1956) ใช้ตลกร้ายนำรอยยิ้มมาสู่ผู้คนที่อยู่ในเงามืดของวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามโลก อารมณ์ขันของเขาเกิดจากความเจ็บปวดส่วนตัว เขาเสียแม่ไปก่อนจะสามขวบ ต่อมาเขาต้องห่างจากพ่อที่มีปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติด ครั้งหนึ่งเขาช่วยชีวิตเด็กชายจากการจราจรบนท้องถนนอันวุ่นวายของนครนิวยอร์กอย่างน่าประทับใจ “มีปัญหาอะไรหรือเจ้าหนู ไม่อยากจะโตขึ้นและเจอปัญหาหรือ”
ชีวิตของโยบตีแผ่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงนี้ เมื่อการแสดงออกถึงความเชื่อของท่านก่อนหน้านั้นนำไปสู่ความผิดหวัง เพื่อนของท่านยังทวีคูณความเจ็บปวดด้วยการซ้ำเติม พวกเขายืนกรานด้วยข้อโต้แย้งที่ฟังดูดีให้โยบยอมรับว่าท่านผิด (4:7-8) และให้เรียนรู้จากการลงพระอาชญาของพระเจ้า ท่านจึงจะพบความเข้มแข็งที่ทำให้สามารถหัวเราะเยาะให้กับปัญหาของท่าน (5:22)
“ผู้ปลอบโยน” ของโยบมีเจตนาดีแม้จะเข้าใจผิด (1:6-12) พวกเขาคงคิดไม่ถึงว่าวันหนึ่งพวกเขาจะถูกประณามว่าเป็นตัวอย่างของ “การมีเพื่อนเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีศัตรู” พวกเขาคงไม่เคยจินตนาการถึงการที่โยบต้องอธิษฐานขอการละเว้นโทษเพื่อพวกเขา หรือทำไมพวกเขาจึงต้องการคำอธิษฐานเผื่อ (42:7-9) พวกเขาคงคิดไม่ถึงว่าพวกเขาเป็นต้นแบบที่เล็งถึงผู้ซึ่งจะกล่าวโทษพระองค์ผู้ทรงต้องทนทุกข์อย่างมหันต์ด้วยความเข้าใจผิด และทรงกลายมาเป็นต้นเหตุแห่งความยินดีอันล้นพ้นของเรา
ฤทธิ์อำนาจของพระกิตติคุณ
ในสมัยโรมันโบราณก็มี “พระกิตติคุณ” หรือข่าวประเสริฐในแบบฉบับของตัวเอง ตามคำบอกเล่าของกวีชื่อเวอร์จิลนั้น ซุสผู้เป็นกษัตริย์แห่งเทพทั้งปวงประกาศตั้งแผ่นดินที่ไร้ขอบเขตหรือเขตแดนให้แก่ชาวโรมัน เหล่าเทพเลือกออกัสตัสให้เป็นบุตรแห่งสวรรค์และผู้ช่วยโลกให้รอดโดยการเริ่มต้นยุคทองแห่งสันติสุขและความมั่งคั่ง
แต่นี่ไม่ใช่ข่าวดีในความคิดของทุกคน สำหรับคนจำนวนมากนั้น นี่คือความเป็นจริงที่ไม่น่าพิสมัยแต่ถูกบังคับกดขี่โดยกองทัพและผู้สั่งการของจักรพรรดิ ความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิถูกสร้างขึ้นบนหลังทาสที่ทำงานตามความพอใจของเจ้านายที่ปกครองพวกเขาโดยไม่มีสถานะทางกฎหมายหรือทรัพย์สิน
นี่คือโลกในช่วงเวลาที่เปาโลแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ (รม.1:1) พระเยซูคือชื่อที่เปาโลเคยเกลียด และพระเยซูเองต้องทนทุกข์เพราะยอมรับว่าทรงเป็นกษัตริย์ของคนยิวและพระผู้ช่วยให้รอดของโลก
นี่คือข่าวประเสริฐที่เปาโลอธิบายในจดหมายฝากโรมถึงชาวโรมัน พระกิตติคุณนี้คือ “ฤทธิ์เดชของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (ข้อ 16) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ต้องทนทุกข์ภายใต้ซีซาร์ต้องการยิ่ง! นี่คือข่าวของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงถูกตรึงและฟื้นคืนพระชนม์ ผู้ปลดปล่อยที่เอาชนะศัตรูโดยการสำแดงว่าพระองค์ทรงรักพวกเขามากเพียงใด